Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีแก้โลกร้อน ตอนที่ 3 ปลูกป่าในวัด ฝากทรัพย์ให้ชุมชน

ทฤษฎีแก้โลกร้อน ตอนที่ 3 ปลูกป่าในวัด ฝากทรัพย์ให้ชุมชน ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ออกประเมินวัดส่งเสริมสุขภาพในจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมกว่า 20 วัด ร่วมกับอาจารย์ ดร. วรรณภา นิติมงคลชัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้จัดทำโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้น นอกจากประเมินผลโครงการ ฯ แล้วผู้เขียนพบว่าวัดบางแห่งมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวภายในวัดมากอย่างน่าสนใจ เพราะพื้นที่สีเขียวเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ดังนี้ครับ……. พื้นที่สีเขียว….หรือพื้นที่ป่าเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุเกิดภาวะเรือนกระจก หรือโลกร้อนได้ เพราะต้นไม้ต้องการ CO2 ไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง เพื่อผลิตอาหาร สร้างเนื้อไม้ กิ่ง ก้าน ลำต้น และส่วนต่าง ๆ ของพืช และพบว่าเมื่อต้นไม้คายน้ำระหว่างการสังเคราะห์แสงมันจะดูดความร้อนจากอากาศโดยรอบ ต้นไม้ใหญ่ที่คลุมเต็มเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา จะดูดความร้อนคิดเป็นค่าประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ กิโลกรัมต่อแคลอรีต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับเครื่องปรับอากาศสำหรับบ้านขนาดกลาง ๒ หลัง เปิดใช้วันละ ๑๒ ชั่วโมง ต้นไม้ที่มีพื้นที่ผิวใบประมาณ ๑๕๐ ตารางเมตร จะผลิตออกซิเจนเพียงพอสำหรับมนุษย์ ๑ คน ภายใน ๑ ปี …. จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้เขียนพบว่าวัดส่งเสริมสุขภาพในจังหวัดกาฬสินธุ์ หลายวัดมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 10 กว่าไร่ หรือบางวัดมากกว่า 50 ไร่ ยกตัวอย่าง เช่น วัดป่าทุ่งศรีเมือง วัดป่าทองแสงสำราญธรรม วัดปทุมรังสี และวัดป่าไตรกุงศรี เป็นต้น ซึ่งเกิดจากท่านเจ้าอาวาสเล็งเห็นความสำคัญของต้นไม้ ป่าไม้ ว่ามีผลต่อการปฏิบัติธรรมที่ต้องอาศัยความสงบ ร่มเย็น และร่มรื่นภายในวัด นอกจากนี้พบว่าบางวัด ชุมชนและผู้นำท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการร่วมปลูกป่าภายในวัดร่วมกับทางพระภิกษุสงฆ์ และมีการจัดการความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น (Knowledge Management : Local Wisdom) ภายในวัดด้วยเช่นกัน เช่น การเขียนบอกชื่อต้นไม้ พืชสมุนไพรท้องถิ่นภายในวัด อธิบายสรรพคุณทางยา ซึ่งถือเป็นต้นไม้พูดได้ให้ชุมชน และเยาวชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน อาจกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนามีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนไม่น้อยทีเดียว ประการสำคัญนอกจากความร่มรื่นและร่มเย็นของป่าไม้ภายในวัดแล้ว พบว่าเป็นแหล่งทรัพยากรด้านอาหารบริโภคที่สำคัญภายในชุมชนด้วยครับ โดยชาวบ้านสามารถเข้ามาหาอาหารจากป่าภายในวัดได้อย่างน่าสนใจ อาทิ หน่อไม้ เห็ดปลวก เห็ดตะไค ผัก ข่าป่า เครือยานาง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งทำให้ชุมชนเห็นคุณค่า และประโยชน์จากทรัพยากรอาหารที่เกิดจากป่าภายในวัดเป็นอย่างยิ่ง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้ กุศโลบายด้วยการใช้ศรัทธานำการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนก็คงไม่เกินจริงนัก และเป็นกุศโลบายที่เกิดความยั่งยืนเพราะเกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริงทั้งด้านการพัฒนาจิตใจ ศีลธรรมจากการเข้าวัด และได้ทรัพย์ คือ อาหารสุขภาพที่เกิดจากป่าภายในวัด ประการสำคัญเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนที่ช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งครับ…… (ลงในคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "หนังสือพิมพ์เสียงภูพาน")

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น








สถิติผู้มาเยี่ยมชม เครือข่ายสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

เหตุผลที่ท่านแวะมาเยี่ยมเว็บไซต์ Blog นี้

ลานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น