Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีแก้โลกร้อน ตอนที่ 4 ปั่นจักรยาน ลดโลกร้อน

เส้นทางสิ่งแวดล้อม Environment Line ทฤษฎีแก้โลกร้อน ตอนที่ 4 ปั่นจักรยาน ลดโลกร้อน นักสิ่งแวดล้อม มักมีแนวคิดการใช้ชีวิต ว่า ” ดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย” คำว่า “เรียบง่าย” ผู้เขียนสามารถอธิบายความได้ดังนี้ หมายถึง การกินง่าย อยู่ง่าย เป็นมิตรกับผู้คน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรแต่พอเพียง ไม่สะสมมากเกินจำเป็นต่อการอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ครับ …. “การปั่นจักรยานออกกำลังกาย หรือปั่นมาทำงาน” นอกจากการสร้างสุขภาพของตนให้แข็งแรงเองแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเป็นนักสิ่งแวดล้อมคงไม่เกินจริงนัก เพราะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและช่วยอนุรักษ์พลังงานด้วยเช่นกัน สำหรับ “บุคคลต้นแบบด้านรักษ์สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม” ที่ผู้เขียนรู้จักมักคุ้น ซึ่งปั่นจักรยานมาทำงาน อาทิ “อาจารย์ธนาเดช อัยวรรณ” สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ “อาจารย์ณัชชา เพียงพอ” โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และ “อาจารย์ ดร. คูณ เครือวรรณ” สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งทั้ง ๓ ท่าน ปั่นจักรยานระหว่างบ้านพักกับที่ทำงาน ไป-กลับ ไม่น้อยกว่า ๓ กิโลเมตร ต่อวัน ซึ่งมีอีกหลายท่านที่สามารถเป็นตัวอย่างการเดินทางมาทำงานด้วยวิถีชีวิตเรียบง่ายแต่ผู้เขียนไม่ได้เอ่ยนามมา ณ ที่นี้ ครับ…. เมื่อปลายปี 2551 ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย และฐานะผู้เชี่ยวชาญงานวิจัย ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านในประเด็นสิ่งแวดล้อม ดังนี้ ศ.ดร. ธงชัย ได้ให้ข้อคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อมหลายประเด็น แต่มีประเด็นที่ท่านได้กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้จักรยาน อย่างน่าฟังว่า “การขี่จักรยานเป็นเหมือนกระสุนนัดสำคัญที่ยิงออกไปแล้วได้ประโยชน์มากมายตามมา” ตั้งแต่สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพเมือง สิ่งแวดล้อมในเมืองมันดีขึ้น และการ “ปั่นจักรยาน”เป็นส่วนหนึ่งในการเจือจางปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะการใช้รถยนต์เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ เมื่อผู้เขียนคิดวิเคราะห์ก็เห็นจะจริงเหมือนท่านว่า ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างประเทศอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานมาดังนี้ครับ… ตัวอย่างในประเทศอังกฤษมีการตั้งเป้าให้ประชาชนหันมาใช้พาหนะ "จักรยาน" ภายในชุมชนมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งมีการศึกษาวางแผนสร้างเส้นทางจักรยานเพื่อเชื่อมโครงข่ายขยายระหว่างบ้านไปยังสำนักงาน โรงเรียน โบสถ์ และแหล่งสันทนาการมีการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้เส้นทางจักรยาน และการประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อทำให้ผู้ขี่จักรยานมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย และสภาชุมชน "อ๊อกซ์ฟอร์ดเชียร์" ของอังกฤษ กำหนดแผนสนับสนุนให้ชาวเมืองใช้จักรยานภายในชุมชนเพิ่มขึ้นจากปี 2536 มาจนถึงปี 2544 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ถนนภายในเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ดเชียร์ ต้องมีเส้นทางจักรยานควบขนานกับทางเดินเท้า ถนนไฮเวย์ถูกกำหนดให้มีทางจักรยานด้วย ผลของการสนับสนุนการใช้จักรยานใน "อ๊อกซ์ฟอร์ดเชียร์" พบว่า “ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ปริมาณอากาศเสียและเสียงดังจากรถยนต์ลดลง ขณะที่ความสัมพันธ์ผู้คนภายในชุมชนแนบแน่นมากกว่าเดิม” และในสหรัฐอเมริกาซึ่งผลิตรถยนต์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่กลับสนับสนุนใช้เส้นทางจักรยานไม่น้อยหน้าประเทศใดอย่างที่นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ มีการศึกษา "ไบก์เลน" อย่างละเอียดยิบโดยจัดทำเป็นคู่มือการออกแบบทางจักรยานในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานของทางจักรยาน ควรจะมีความกว้างเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ของถนน โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจร การกำหนดเลนควรจะใช้กี่ช่องทาง ให้เป็นวันเวย์หรือทูเวย์สำหรับคนขี่จักรยาน กำหนดสถานที่ จอดรถจักรยาน ทางเลี้ยวหรือทางเชื่อมต่อและการแบ่งพื้นที่เพื่อใช้ทางจักรยานร่วมกับรถบัสโดยสารประจำทาง ปลอดภัยทั้งคนขี่จักรยาน คนเดินเท้าและคนขับรถยนต์ ครับ…… ………เมื่อหันมามองบ้านเรา เมืองเรา ถือว่ายังโชคดี มีโอกาสพัฒนาเพิ่มขึ้นครับ เพราะยังมีช่องว่าง (Gap) ที่กว้างเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้จักรยานในวิถีชีวิต จึงควรเริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบายระดับประเทศ หรือระดับจังหวัด เพื่อมุ่งสู่ “Green City” มียุทธศาสตร์ กลยุทธ์ กรอบเวลาชัดเจน และเริ่มศึกษาวางแผนกำหนดเส้นทางจักรยานที่มีเลนเฉพาะ ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่นระหว่างเส้นทางการปั่น เน้นความปลอดภัยผู้ใช้จักรยาน และมีนโยบายที่เอื้อและสนับสนุนให้ประชาชนอยากหันมาใช้จักรยาน ประการสำคัญทุกหน่วยงานราชการควรมีเป้าหมายจำนวนการใช้จักรยานของบุคลากรในหน่วยงาน เพื่อความเป็นแบบอย่างด้านสุขภาพ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสำหรับประชาชน และประการสำคัญการปั่นจักรยานเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนได้ตลอดเส้นทาง “ต่างจากรถยนต์” ที่บ่งบอกถึงความเป็นอิสสระ ส่วน ตัวแต่แปลกแยกออกจากสังคม และชุมชน ครับ………… (ลงในคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "หนังสือพิมพ์เสียงภูพาน")

5 ความคิดเห็น:

  1. เชิญร่วมเสวนา มุมมองสิ่งแวดล้อม

    ตอบลบ
  2. ที่ จังหวัดหนองบัวลำภู ก็มีโครงการ "ปั่นสองล้อ ไม่ง้อน้ำมัน" ที่เสี่ยงอันตรายจากรถยนต์ เป็นไปได้มีช่องทางจักรยาน เหมือบทความจะดีมาก

    ตอบลบ
  3. จักนยานแพงเกินไป ถ้าหน่วยงานสนับสนุนคนละครึ่ง คงจะดีนะคะ

    ตอบลบ
  4. วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2553 อาจารย์ผู้เขียนได้ไปปั่นจักรยานลดโลกร้อนที่ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ใหม คะ

    ตอบลบ








สถิติผู้มาเยี่ยมชม เครือข่ายสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

เหตุผลที่ท่านแวะมาเยี่ยมเว็บไซต์ Blog นี้

ลานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น