Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีแก้โลกร้อน ตอนที่ 2 ตัวอย่างระบบจัดการขยะเศษอาหารที่เกาหลี

เส้นทางสิ่งแวดล้อม Environment Line
ทฤษฎีแก้โลกร้อน ตอนที่ 2 ตัวอย่างระบบจัดการขยะเศษอาหารที่เกาหลี .......ผู้เขียนมีโอกาสอ่านบทความของอาจารย์วรรณวิมล ภัทรสิริวงษ์ ในประเด็นสิ่งแวดล้อมของประเทศเกาหลีที่น่าสนใจ จึงได้สกัดความรู้ในประเด็นระบบการจัดการขยะเศษอาหารมาให้ผู้อ่านที่มีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมได้มีมุมมองเพิ่มเติมในระบบการจัดการขยะอินทรีย์ของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียเราครับ…. จากภาวะวิกฤติปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งหน่วยงาน Global Green New Deal โดย UNEP ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของโลกร่วมกันใน 6 ด้าน ดังนี้ครับ 1) พลังงานและเทคโนโลยีสะอาดรวมถึงการรีไซเคิล 2) พลังงานในชนบทรวมถึงพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชีวมวลที่ยั่งยืน 3) การเกษตรที่ยั่งยืนรวมถึงเกษตรอินทรีย์ 4) โครงสร้างพื้นฐานในระบบนิเวศ 5) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรม 6) เมืองที่ยั่งยืนรวมถึงการวางแผนการขนส่งและการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อ่านต่อได้ที่นี่ครับ (http://www.unep.org/ ; http://www.unep.org/greeneconomy/) แนวคิดดังกล่าว ประเทศเกาหลีโดยประธานาธิบดี Lee Myung-bak ได้นำมาพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศ และประกาศนโยบาย Green New Deal เมื่อต้นปี 2552 โดยมุ่งหวังว่านโยบายนี้จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาประเทศในมิติใหม่ โครงการนี้ใช้งบประมาณกว่า 40 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างเส้นทางรถจักรยาน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในแม่น้ำ 4 สายใหญ่ของประเทศ นำขยะมารีไซเคิล และโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ สำหรับกลยุทธ์หลักที่นำมาใช้ คือ 4 Rs ซึ่งประกอบด้วย 3 Rs ซึ่งบ้านเราคุ้นเคยกันดีครับ คือ Reduce Reuse และ Recycle บวกกับอีก 1 R คือ Recovery หรือ Eco-treat ซึ่งเน้นกระบวนการที่สามารถผลิตพลังงานที่ได้จากขยะ เป้าหมายสำคัญในโครงการนี้ คือ การจัดการขยะเศษอาหาร ซึ่งเกาหลีใช้นโยบายส่งเสริมให้มีการนำเศษอาหารมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ และทำปุ๋ยปรับปรุงดิน บำรุงพืช และเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้จัดการกับเศษอาหารอย่างเร่งด่วน คือ อนุสัญญาลอนดอน ที่ชื่อว่า London Convention 1669 Protocol ว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้ และวัสดุอื่น ซึ่งพบว่าเกาหลีเพื่อนบ้านของเราทิ้งขยะอินทรีย์ลงในทะเลประมาณ 20,000 ตันต่อวัน ครับ (ข้อมูล ปี 2552) ตัวอย่างระบบการจัดการเศษอาหารของรัฐบาลเกาหลี จะกำหนดให้ประชาชนคัดแยกเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ๆ ใส่ในถุงพลาสติกเฉพาะ ในกรณีร้านอาหาร หรือโรงแรม จะเทรวมไว้ในถังที่เตรียมไว้ โดยรัฐจะเป็นผู้เก็บรวบรวม เพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือ การนำไปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ และนำไปทำปุ๋ย ซึ่งจะมีบริษัทเอกชน เป็นผู้รับอาหารไปเลี้ยงหมู วิธีการ คือเริ่มจากไปรับเศษอาหารด้วยรถบรรทุกของบริษัทตนเอง จากแหล่งรวบรวมแล้วนำไปโรงอาหาร ซึ่งเศษอาหารจะถูกคัดแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นของแข็งจะถูกแยกออกไปทำให้แห้งด้วยการเป่าลมร้อน แล้วถูกส่งไปโรงงานผลิตปุ๋ย ส่วนที่เป็นของเหลวจะนำไปผ่านกระบวนการต้มและฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นาน 1.30 ชั่วโมง แล้วเติมจุลินทรีย์บางชนิดที่ช่วยในการย่อยอาหารของหมู อาหารจะถูกตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐาน อาทิ เปอร์เซ็นต์ไขมัน โปรตีน กากใย และพลังงาน เป็นต้น จากนั้นนำไปพักในถังใหญ่เพื่อรอการนำไปส่งฟาร์มหมูของเกษตรกรที่อยู่โดยรอบเมือง ตัวอย่าง Food Recycling Center เป็นศูนย์กลางที่ดำเนินการในการนำเศษอาหารมาทำปุ๋ย ขั้นตอนการนำมาก็เช่นเดียวกับบริษัทแรก คือ ใช้รถไปขนมาเทลงในพื้นที่ของโรงงานหลังจากนั้นคัดแยกขยะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เศษอาหารที่ปะปนมา เช่น ถุงพลาสติก หรือ โลหะต่าง ๆ ต่อจากนั้นเศษอาหารจะถูกบดให้มีขนาดเล็กลงและทำให้แห้งด้วยความร้อน 150 เซลเซียส นำไปบ่มที่อุณหภูมิ 3 ระดับ เป็นเวลา 15 วัน แล้วนำไปผึ่งในห้องขนาดใหญ่ เพื่อลดความร้อนและปล่อยให้ปุ๋ยมีการย่อยสลายอย่างเต็มที่ (mature) ในระหว่างนี้ก็จะมีการคลุกเคล้าให้เข้ากันไปเรื่อย ๆ เมื่อได้ที่แล้วจึงจะนำมาบรรจุกระสอบและตรวจสอบมาตรฐานกำกับโดยบริษัทจากภายนอกมาตรวจวิเคราะห์ และใช้แรงงานจากบุคลากรในชุมชนท้องถิ่น จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าระบบการจัดการขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหารของประเทศเกาหลี พบว่ามีระบบการบริหารจัดการที่เป็นระบบชัดเจนครับ เริ่มตั้งแต่การกำหนดวัตถุประสงค์ว่าจะนำขยะไปใช้ประโยชน์อะไร มีการจัดเก็บที่เป็นระบบเริ่มที่แหล่งกำเนิดของขยะ คือ ตามบ้านที่พักอาศัย ร้านอาหาร หรือโรงแรม กระบวนการแปรรูปขยะมีศูนย์กลางหรือบริษัทที่จัดการอย่างถูกหลักสุขาภิบาลมีระบบการฆ่าเชื้อก่อนการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรือปุ๋ย ผลผลิตที่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานอย่างเป็นระบบก่อนส่งถึงมือเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เมื่อมาเปรียบเทียบกับบ้านเรา ทั้งในกรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัดครับ พบว่าส่วนใหญ่ขยะประเภทเศษอาหารที่เหลือตามครัวเรือนจะทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ก่อนที่หน่วยงานท้องถิ่นจะเก็บรวบรวมนำไปทิ้งที่บ่อฝังกลบขยะ ซึ่งส่งผลให้เกิดการหมักตัวของขยะอินทรีย์และเกิดแก๊สมีเทนส่งผลต่อภาวะโลกร้อน หรือกรณีตามร้านอาหารจะรวบรวมเป็นอาหารสัตว์โดยตรงโดยไม่ผ่านการแปรรูปและควบคุมระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ดังนั้นพอสรุปได้ว่าระบบการจัดการขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหารในบ้านเรา..เมืองเรายังมีช่องว่าง (Gap) หรือโอกาสการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเด็นนี้ค่อนข้างมากครับ…. (ลงในคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "หนังสือพิมพ์เสียงภูพาน")

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น








สถิติผู้มาเยี่ยมชม เครือข่ายสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

เหตุผลที่ท่านแวะมาเยี่ยมเว็บไซต์ Blog นี้

ลานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น