Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีแก้โลกร้อน ตอนที่ 1 สุขาภิบาลอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เส้นทางสิ่งแวดล้อม Environment Line ตอนที่ 1 สุขาภิบาลอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ........ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ฯลฯ เพิ่มมากขึ้นในบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิบนพื้นโลกสูงขึ้นที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global warming) ซึ่งพบว่าประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก คือ ที่ 31 ของโลก ดังนี้ 1. ประเทศสหรัฐอเมริกา 15.79, 2. จีน 11.88, 3. อินโดนีเซีย 7.41, 4. บราซิล 5.37 5. รัสเซีย 4.73 ,…… 31. ไทย 0.75 (หน่วยเป็น % of world Emission) และเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ดังนี้ 1. อินโดนีเซีย 7.41 2. มาเลเซีย 2.09 3. พม่า 1.23 และ 4. ไทย 0.75 (หน่วยเป็น % of world Emission) ........ปัญหาข้างต้น องค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ Water Supply and Sanitation Collaboration Council ได้จัดประชุม World Forum ครั้งที่ 5 เมื่อปี ค.ศ. 2005 และองค์การสหประชาชาติ (UN) จัดประชุมประเมินผลการดำเนินงานปีสากลแห่งสุขาภิบาล ณ ประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 2010 สาระสำคัญการประชุมวิเคราะห์ได้ว่ามุ่งให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินงานสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกใช้ผลิตภัณฑ์การสุขาภิบาล เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์……. ..สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้การดำเนินงานสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน คือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ด้วยโครงการสาธารณสุขรวมใจ รณรงค์ลดโลกร้อนด้วยการสุขาภิบาลที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยมีแนวทางดำเนินงานด้วยหลักการ GREEN and CLEAN ซึ่งมีกลยุทธ์ ดังนี้ กลยุทธ์ GREEN G : Garbage คือ การจัดการมูลฝอยและการใช้ประโยชน์จากสิ่งปฏิกูล โดยใช้หลัก 3 R 1. Reduce ลดการใช้ คือ ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ในโรงพยาบาลใช้กระเป๋าผ้าใส่ยาในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ฯลฯ เป็นการลดการใช้ถุง พลาสติก การส่งหนังสือเวียนในหน่วยงานส่งด้วยจดหมายอิเลคทรอนิกส์ e-mail ลดการใช้กระดาษ 2. Reuse ใช้ซ้ำ มีการนำวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ยังสามารถใช้งานได้กลับมาใช้ซ้ำ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น โรงพยาบาลนำถุงผ้าใส่ยาแทนถุงพลาสติกสำหรับผู้ป่วยที่มารับยาต่อเนื่อง การใช้กระดาษทั้ง 2 หน้า 3. Recycle การใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ มีการตัดแยกขยะประเภท แก้ว กระดาษ พลาสติก เพื่อนำไปทำธนาคารขยะ-จำหน่าย หรือวัตถุดิบที่สามารถไปผ่านกระบวนการแปรรูป (Recycle) นำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังเป็นการประหยัดพลังงาน R : Rest room คือการพัฒนาส้วมในสถานบริการสาธารณสุข ให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะไทย (HAS) E : Energy คือ การลดการใช้พลังงาน เช่น การใช้มาตรการประหยัดไฟฟ้า ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง มีการใช้พลังงานทดแทนจากชีวมวล เช่น การผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากเศษอาหาร เศษผัก หรือมูลฝอยอินทรีย์อื่น ๆ E : Environment คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดโลกร้อนและการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยนำแนวทางการพัฒนาสถานที่ทำงาน น่าอยู่ น่าทำงาน (Healthy Work Place) มาประยุกต์ใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อม และปรับภูมิทัศน์ให้ร่มรื่น เลือกปลูกต้นไม้ที่มีขนาดที่เหมาะสม กับสภาพแวดล้อมเน้นความร่มรื่นของต้นไม้ มากกว่าต้นไม้ขนาดเล็กที่มีเฉพาะความสวยงาม N : Nutrition คือ การรณรงค์อาหารปลอดสารพิษ ผักพื้นบ้าน ผักพื้นเมือง ปลูกผักที่บริโภคในครัวเรือน ทั้งนี้การปลูกผักตามฤดูกาล ลดการใช้สารเคมี และยาปราบศัตรูพืช จะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ออกสู่บรรยากาศโลก โรงพยาบาลที่มีการประกอบอาหารสำหรับผู้ป่วย จึงควรรณรงค์ให้โรงครัว และประชาชนในพื้นที่ใช้พืชผักที่ปลอดสารพิษ และผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ กลยุทธ์ CLEAN สังเคราะห์ได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสื่อสาร สร้างกระแส และสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม เน้นสร้างความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมทั้งบุคคลและหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จัดการความรู้ (Knowledge Management) จากกิจกรรม GREEN ผลักดันให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบของภาคีเครือข่าย สรุปได้ว่าการดำเนินกิจกรรมลดโลกร้อนด้วยหลักสุขาภิบาลที่ยั่งยืนเป็นการเริ่มต้นกิจกรรม GREEN ในหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อสร้างความเป็นแบบอย่างในกิจกรรมสิ่งแวดล้อม อาทิ ลดการใช้พลังงาน ปรับภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมการทำงานให้ร่มรื่น บริโภคพืชผักปลอดสารพิษ และขยายผลกิจกรรมสู่ภาคีเครือข่ายในหน่วยงานอื่น ๆ ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดผลในการลดโลกร้อน .....อย่างไรก็ตามการลดภาวะโลกร้อนนั้นควรเริ่มต้นที่ตัวเราเป็นสำคัญ ด้วยหลักแนวคิด “กิน - อยู่ อย่างเรียบง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เริ่มจากการบริโภคอาหารแต่พอดี ไม่เหลือทิ้ง ปั่นจักรยาน หรือใช้จักรยานยนต์มาทำงาน แทนการใช้รถยนต์ “ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง” ออกกำลังกายด้วยการขึ้นลงบันได แทนการใช้ลิฟต์ “ลดพลังงานไฟฟ้า” เสื้อผ้าตัดหรือซื้อใส่จำนวนแต่พอดี ไม่มากเกินจำเป็น “ลดพลังงานในกระบวนการผลิต” ปลูกผักสวนครัวในองค์กรหรือที่บ้านเพื่อบริโภค “ลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากสารเคมี” ฯลฯ ซึ่งที่กล่าวมาเราสามารถมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อนด้วยวิธีง่าย ๆ ได้..…. (ลงในคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "หนังสือพิมพ์เสียงภูพาน")

1 ความคิดเห็น:

  1. ที่โรงพยาบาลใช้ EM น้ำหมักชีวภาพร่วมในการทำความสะอาดด้วย

    ตอบลบ








สถิติผู้มาเยี่ยมชม เครือข่ายสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

เหตุผลที่ท่านแวะมาเยี่ยมเว็บไซต์ Blog นี้

ลานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น