Powered By Blogger

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ทฤษฎีแก้โลกร้อน ตอนที่ ๕ ปั่นจักรยาน ลดโลกร้อน ในต่างประเทศ

ทฤษฎีแก้โลกร้อน ตอนที่ ๕ " ปั่นจักรยาน ลดโลกร้อน ในต่างประเทศ " ตามที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดกิจกรรม “วันปลอดรถ ลดโลกร้อน หรือ Car Free Day” ขึ้นในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓ นั้น คงต้องปรบมือให้ดัง ๆ ในกิจกรรมดี ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในจังหวัดกาฬสินธุ์ และน่าจะเป็นการสร้างกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานโดยการปั่นจักรยานมาทำงาน หรือออกกำลังกายไม่มากก็น้อยครับ…ต่อจากฉบับที่แล้ว คงจะขอเล่าว่าด้วยเรื่องของจักรยาน ต่อครับ แต่ขอยกตัวอย่างในต่างประเทศ ดังนี้………… ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นั้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือประเทศญี่ปุ่น ต่างให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการปั่นจักรยาน ในทุก ๆ เมือง มีการให้ความสำคัญกับเส้นทางจักรยานโดยกำหนดใน “ผังเมือง” มีการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่สนับสนุนให้คนเดินเท้าและปั่นจักรยาน ยกตัวอย่าง เช่น….… ประเทศญี่ปุ่น มีระบบผังเมืองที่ดี มีการวางแผนการจราจรสาธารณะอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้สามารถใช้จักรยานร่วมกับบริการขนส่งสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางม้าลายขนาดใหญ่มีการแยกกันระหว่างจักรยานกับคนเดินเท้า และควบคุมไม่ให้รถยนต์จอดทับทางม้าลาย มีการทำทางลาดขอบทางเท้าบริเวณที่ตรงกับทางม้าลายเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการ บนพื้นผิวทางเท้าจะมีปุ่มสัมผัส และมีสัญญาณเสียงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนตาบอด ญี่ปุ่นมีพลเมืองหนาแน่นมาก ถนนในโตเกียวคลาคล่ำไปด้วยผู้คน รถติดพอ ๆ กับกรุงเทพ ฯ คนจึงนิยมใช้จักรยานกันมาก มีทางจักรยานทุกเมือง โดยการลบขอบทางเท้าตามแนวเส้นทางจักรยานและยังช่วยให้คนพิการเดินทางได้สะดวกขึ้นด้วย พื้นทางเท้ายังทำเป็นปุ่มเตี้ย ๆ เป็นแนวสำหรับนำทางคนตาบอด มีระบบสัญญาณไฟจราจรที่ควบคุมทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถนน เช่น ในภาพที่รถยนต์ได้สัญญาณไฟแดง คนข้ามถนนและขี่จักรยานได้สัญญาณไฟเขียว ทำให้ไม่เกิดความสับสนในการใช้พื้นที่ถนนและสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ช่วยให้ลดอุบัติเหตุลง บริเวณที่เป็นสถานีรถไฟฟ้าจะมีที่จอดรถจักรยานไว้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนขี่จักรยานจากบ้านมาขึ้นรถไฟฟ้าต่อเพื่อเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ได้สะดวก ครับ บริเวณที่มีคนเดินเท้าจำนวนมาก จะทำทางข้ามขนาดใหญ่และควบคุมไม่ให้มีการหยุดรถตรงเครื่องหมายทางข้าม ทำให้คนเดินเท้าใช้ทางข้ามได้ง่าย สะดวก คนข้ามถนนต้องรอสัญญาณไฟอนุญาตให้ข้าม และยังมีสัญญาณเสียงที่ทำให้คนข้ามถนนและคนตาบอดคาดการณ์ได้ว่าเมื่อไรจะหมดเวลาอนุญาตให้ข้ามถนน มีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้จักรยานโดยจัดที่จอดจักรยานไว้ให้ในหลาย ๆ จุดของพื้นที่เมือง อนุญาตให้จักรยานขี่บนทางเท้าได้ในบริเวณที่มีพื้นที่ทางเท้าพอเพียง และมีการควบคุมร้านค้าริมทางเท้าไม่ให้วางสิ่งของล้ำจากแนวที่กำหนด จักรยานที่นำมาใช้จะต้องมีอุปกรณ์ครบสมบูรณ์ เช่น ไฟหน้า ไฟท้าย กระดิ่ง ขาตั้ง เป็นต้น นอกจากนี้จักรยานแต่ละคันจะมีสติ๊กเกอร์เป็นรหัสของแต่ละเมือง ผู้ขี่จักรยานต้องมีใบอนุญาตที่ตรงกันกับรหัสนั้นด้วย หากอุปกรณ์ไม่ครบสมบูรณ์หรือผู้ขี่มีใบอนุญาตที่ไม่ตรงกับรหัสของจักรยาน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์ที่จะเรียกตรวจและยึดจักรยานนั้นไว้ได้ ทางจักรยานในประเทศเยอรมัน ประเทศเยอรมัน พบว่ามีการวางระบบทางจักรยานในหลายพื้นที่เมือง มีการใช้งานผสมผสานกันทั้งทางจักรยานโดยใช้พื้นที่ถนน ทางจักรยานที่ใช้พื้นที่ทางเท้า ทางจักรยานเฉพาะ ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดและศักยภาพของบริเวณพื้นที่นั้น การมีทางจักรยานที่ครอบคลุมพื้นที่เมืองทำให้ประชากรมีสวัสดิการสังคมที่ดี ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นในการใช้พาหนะในการเดินทาง และพักผ่อนออกกำลังกาย เยอรมันเป็นประเทศที่มีการใช้จักรยานมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป “กฎหมายบังคับให้การสร้างถนนใหม่ต้องมีทางจักรยานด้วยเสมอ” วารสาร Mountain Bike Action Travel & Trail 1994 รายงานว่าทั่วเยอรมันมีประชากร 80 ล้านคน มีจักรยานประมาณ 65 ล้านคัน ในขณะที่มีรถยนต์เพียง 35 ล้านคันเท่านั้นครับ ตามที่กล่าวมาข้างต้น สามารถวิเคราะห์สรุปได้ว่า “ทางจักรยาน” จัดเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางภายในเมือง และเป็นที่นิยมในหลาย ๆ เมือง ในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือ ญี่ปุ่น ส่วนในบ้านเรา - เมืองเรานั้น พบว่ามีการส่งเสริมกิจกรรมรณรงค์ให้ใช้จักรยานเพื่อลดการใช้พลังงานเป็นระยะ ๆ แต่ประการสำคัญพบว่ายังขาดการวางแผน หรือวางยุทธศาสตร์ระยะยาว คือ “ยุทธศาสตร์การวางโครงสร้างของเมือง” หรือ “การจัดผังเมือง เพื่อสิ่งแวดล้อม” ครับ ถ้าถนน-เส้นทางจราจรมีช่องทางเพื่อจักรยาน มีสิ่งแวดล้อมดี เน้นความปลอดภัย คงไม่ยากเกินไปที่จะกระตุ้นจิตสำนึกสิ่งแวดล้อม (Environmental awareness) ให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานเป็นวัฒนธรรมในวิถีชีวิตประจำวันได้ครับ ………..................................... (ลงในคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "หนังสือพิมพ์เสียงภูพาน")







สถิติผู้มาเยี่ยมชม เครือข่ายสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

เหตุผลที่ท่านแวะมาเยี่ยมเว็บไซต์ Blog นี้

ลานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น